..ท้าวเวสสุวรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก ..ภาพถ่าย วันที่ 18 สิงหาคม 2567

วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

การเข้าสมาธิ (พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน)

การเข้าสมาธิ  (พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน)


ขั้นที่ 1  :  ความสำรวม

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวร ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจรอยู่  เห็นภัยในโทษทั้งหลาย  อันมีประโยชน์น้อย  สมาทานแล้วประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  สำรวมในอินทรีย์  6  รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม  ประกอบความเพียรอันเป็นไปติดต่อ  ประกอบปัญญาอันรักษาไว้ซึ่งตน  เจริญโพธิปักขิยธรรม

ขั้นที่ 2 :  สติสัมปชัญญะ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้น  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับมาข้างหลัง  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการแลดูข้างหน้าและเหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการรู้อวัยวะเข้าและเหยียดอวัยะออก  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิ  บาตร และจีวร เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการกิน  ดื่ม  เคี้ยว  และลิ้มรส  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ  เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน  ยืน  นั่ง  หลับ  ตื่น  พูดและนิ่ง

ขั้นที่ 3  :  การเสพวิเวก

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้น  อาศัยเสนาสนะอันสงัด  คือป่า  โคนไม้  ภูเขา  ซอกเขา  ถ้ำในภูเขา  ป่าช้า  ดง  ที่แจ้ง  กองฟาง  สถานที่ไม่มีเสียงรบกวน  สถานที่ไม่มีเสียอื้ออึง  สถานที่ไม่ใคร่มี  ผู้คนสัญจรไปมา  สถานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน  สถานที่อันสมควรเป็นที่หลีกเร้น
              ภิกษุนั้น  ไปสู่ป่าก็ตาม  ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม  นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายให้ตรง  ตั้งสติมุ่งหน้าต่อกรรมฐาน

ขั้นที่ 4 :  การละนิวรณ์

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลกได้แล้ว  อยู่ด้วยจิตที่ปราศจากอภิชฌา  ชำระจิตให้บริสุทธิ์  จากอภิชฌา  ละความพยาบาทและความประทุษร้ายได้แล้ว  เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่ มีความอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง  ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความพยาบาทและความประทุษร้าย  และความหดหู่หาวนอนได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากความหดหู่หาวนอนอยู่  มีอาโลกสัญญา  มีสติสัมปชัญญะ  ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความหดหู่หาวนอน  ละความฟุ้งซ่านได้แล้ว  เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่  มีจิตสงบภายใน  ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความฟุ้งซ่าน  ละความลังเลสงสัยได้แล้ว  เป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งความลังเลสงสัยอยู่  ไม่มีความสงสัย  ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความสังสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย

ขั้นที่ 5 :  การเข้าฌาน

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้น  ละนิวรณ์  5  อันทำใจให้เศร้าหมอง  ทำปัญญาให้ทรามได้แล้ว  สงัดจากกาม  สงัดจากอกุศล  ธรรมทั้งหลายแล้ว  บรรลุปฐมฌาณ  ประกอบด้วย วิตก  วิจาร  มีปิติ  และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
              บรรลุทุติยฌาณ  อันเป็นไปในภายใน  เป็นธรรมชาติผ่องใส  เพราะวิตกวิจารสงบ  เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่  เพราะคลายปีติได้อีกด้วย  จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะอยู่  และเสวยสุขด้วยนามการ  บรรลุตติยฌานซึ่งเป็นฌานที่พระอริยะเจ้ากล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า  เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา  มีสติอยู่เป็นสุข  ดังนี้อยู่
              บรรลุจตุตถฌาน  ไม่มีทุกข์  ไม่มีสุข  เพราะละสุขและทุกข์ได้  เพราะโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนดับสนิท  มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
              เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง  เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาเพราะไม่มนสิการ  ซึ่งตัวตนในอดีต  จึงบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน  โดยมนสิการว่า  ความว่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้อยู่
              เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ  โดยประการทั้งปวง  จึงบรรลุ  วิญญาณณัญจายตนฌาน  โดยมนสิการว่า  วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด  ดังนี้อยู่
              เพราะก้าวล่วง วิญญาณณัญจายตนฌาน   โดยประการทั้งปวง  จึงบรรลุ  อากิญจัญญายตนญาณ  โดยมนสิการว่า  วิญญาณน้อยหนึ่งไม่มี  ดังนี้อยู่
              เพราะก้าวล่วง อากิญจัญญายตนญาณ    โดยประการทั้งปวง  จึงบรรลุ  เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อยู่   
 
  คัดลอกจาก หนังสือ พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน

  *** พอตัวตาย  สิ่งทั้งหลายมลายราบ  เหลือแต่บาปตามวิญญาณถึงเมืองผี**




                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น